
สว.จี้ นายกฯเร่งเคลียร์ปมการเมืองโดย โพสต์ทูเดย์
วัน ศุกร์ ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2551 14:22 น. พล.อ.เลิศรัตน์ นำทีม ส.ว.นับ 100 คน แถลงเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรี เร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมคืนอำนาจให้ประชาชน-ขอให้กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมชุมนุมให้ยุติบทบาท-ภาพ:อภิชิต จินากุล ด้านวุฒิสภา เห็นชอบวาระแรก 119 ต่อ 5 เสียง ผ่านร่างพ.ร.บ.ประชามติ ก่อนลงมติ ส.ว.รุบสับมติครม.ให้ทำประชามติปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ชี้ขัดรธน. ประพันธ์ ย้ำ รธน.ระบุชัดเกณฑ์ตั้งหัวข้อประชามติเกี่ยวกับบุคคล-คณะบุคคลไม่ได้ ระบุ ถ้านายกฯดึงดันกกต.ท้วงไม่ได้ ชี้ ต้องมีพ.ร.บ.ประกอบฯรองรับด้วย
วันนี้ที่ รัฐสภา สมาชิกวุฒิสภา นับ100 คน ซึ่งมี ส.ว. ทั้งเลือกตั้งและสว.สรรหา นำโดยพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สว.สรรหา ได้เสนอทางออก 3 ข้อให้กับรัฐบาลถึงกรณีเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น โดยพล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ส.ว.ทุกคนตระหนักถึงปัญหาความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นในสังคมจนก่อให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้มีผู้บาดเจ็บกว่า 100 คนแล้ว และมีเสียชีวิต1 คน นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อและยาวนานยิ่งจะทำให้ยากแก่การเยียวยา
ดังนั้นทาง สว.ส่วนใหญ่ได้มีการหารือกันถึงสถานการณ์ดังกล่าวและปรารถนาให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทราบจุดยืน จึงขอเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ขอให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯและรัฐบาลเร่งรัดแก้วิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยสันติวิธี ด้วยการเข้าไปเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อให้ยุติปัญหาที่เกิดขึ้นโดยขอให้รีบเร่งทำในระยะเวลาที่สั้นที่สุด 2.หากไม่สามารถยุติปัญหาด้วยการเจรจาได้ขอให้นายกฯเลือกใช้หนทางแก้ไขตามระบอบประชาธิปไตยคือการการคืนอำนาจให้กับประชาชนและให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะไม่มีใครแพ้และชนะ
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า 3.เมื่อนายกฯดำเนินการแล้วก็ขอให้ประชาชนทุกคนยุติการชุมนุมที่ผิดกฎหมายและยุติการหยุดงานประท้วง เพื่อมาช่วยกันตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมและช่วยกันตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้เกิดความโปร่งใส ซึ่ง ส.ว. ก็จะร่วมมือกับประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่นี้อย่างเต็มความสามารถ ขอยืนยันว่าการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาอื่นใดแอบแฝง หรือต้องการกดดดันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองที่จะได้รับผลกระทบที่จะตามมาและเราก็ไม่ได้ฝักฝ่ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ต้องการให้บ้านเมืองพัฒนาไปได้
มติที่ประชุมวุฒิสภารับหลักการ ร่างพ.ร.บ.ประชามติ 119 ต่อ 5(5ก.ย.) เวลา 09.45 น.การประชุมวุฒิสภา มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสร็จแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 302 วรรคสี่ และวรรคหก โดยวุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
จากนั้น ส.ว.หลายคน อาทิ นายวรินทร์ เทียมจรัส นายสมชาย แสวงการ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหาอภิปรายติติงกรณีที่ครม.มีมติให้ทำประชามติกรณีความขัดแย้งในบ้านเมือง โดยระบุว่า ไม่มีเหตุให้ดำเนินการดังกล่าว และกกต.จะสามารถทำได้ภายในกี่วัน และจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้วุฒิสภาต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ด้วยความรอบคอบ เนื่องจากสภาผ่านวาระ 3 โดยมีการแก้ไขปรับปรุงพอสมควร ทั้งเรื่องสิทธิการลงประชามติ เหตุที่ทำให้ต้องลงประชามติ การชี้ขาดผลการลงประชามติ ข้อห้ามและการให้ข้อมูลในการลงประชามติ รวมถึงเกรงว่า กกต.จะสามารถดำเนินการลงประชามติให้เป็นไปตามเป้าหมายได้หรือไม่ นอกจากนี้กว่าวุฒิสภาจะพิจารณาเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด หากครม.ต้องการให้ทำประชามติ จะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และหากนายกฯ ยุบสภาหรือลาออก ร่างกฎหมายนี้จะมีสถานะอย่างไร
ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า ฝ่ายบริหารมักดำเนินโครงการหรือนโยบายที่มีผลกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชนและชุมชน กฎหมายฉบับนี้จึงมีขึ้นเพื่อถ่วงดุลระหว่างฝใยประชาชนกับฝ่ายการเมือง ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ควรเปิดให้ประชาชนเสนอประเด็นขึ้นมาให้สาธารณะทำประชามติได้ด้วย เช่นเดียวกับที่ประชาชนสามารถเข้าชื่อยื่นถอดถอนนักการเมืองได้
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 302 บัญญัติให้กกต.ต้องปรับปรุงกฎหมายนี้ภายใน 1 ปี ภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งกกต.ได้ดำเนินการแล้ว และในส่วนระยะเวลาการพิจารณาภายใน 90 วันของสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่มีปัญหาแล้ว ส่วนมติครม.เรื่องการทำประชามตินั้น ตนยังไม่เห็น และยังไม่ทราบถ้อยคำของการขอทำประชามติว่าเป็นเรื่องอะไร แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 กำหนดหัวข้อการทำประชามติไว้ข้อ 2 ในวรรคสามว่า การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดแย้งหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลจะกระทำมิได้
“ กรณีที่ ส.ว. สงสัยว่า หากนายกฯประกาศหัวข้อประชามติ กกต.สามารถทักท้วงได้หรือไม่นั้น กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ให้อำนาจกกต.ทักท้วงประกาศของนายกฯ แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 165 บัญญัติว่า ก่อนที่นายกฯจะประกาศหัวข้อประชามติ ต้องถามความเห็นครม.ก่อนว่า สอดคล้องตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติหรือไม่ ไปเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือคณะบุคคลหรือไม่
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้นายกฯปรึกษาประธานฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ผมเชื่อว่า ในทางปฏิบัติ นายกฯคงไปปรึกษา หากหัวข้อดังกล่าวไม่สอดคล้องในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ฝ่ายนิติบัญญัติคงทักท้วง และเมื่อมีการประกาศหัวข้อประชามติ กกต.คงไม่สามารถไปทักท้วงอะไรได้อีก เพราะนายกฯเป็นผู้บริหารประเทศ ” นายประพันธ์ กล่าว
นายประพันธ์ กล่าวว่า การที่ครม.จะทำประชามติต้องมีกฎหมายมารองรับ เพราะกฎหมายว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติในการทำประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ไม่สามารถนำมาบังคับได้ เนื่องจากแป็นกฎหมายเฉพาะเรื่อง ดังนั้นกกต.จึงไม่สามารถทำประชามติได้ถ้าไม่สามารถมีกฎหมายรองรับ
หลังจากอภิปรายนาน 1 ชั่วโมงครึ่ง ที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 119 ต่อ 5 งดออกเสียง 1 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 29 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการปะทะคารมกันเล็กน้อยระหว่างนายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหาที่เป็นอดีตส.ส.ร. 50 หลังจากนายศิริวัฒน์ ระบุว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 50 โหลยโท่ย ทำให้นายสุรชัย ลุกขึ้นตอบโต้ว่า เป็นการทำให้ผู้อื่นเสียหาย ทำให้นางสาวทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานขอให้ทั้งสองคนอย่าเอาความกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการปะทะคารมกันเล็กน้อยระหว่างนายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหาที่เป็นอดีตส.ส.ร. 50 หลังจากนายศิริวัฒน์ ระบุว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 50 โหลยโท่ย ทำให้นายสุรชัย ลุกขึ้นตอบโต้ว่า เป็นการทำให้ผู้อื่นเสียหาย ทำให้นางสาวทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานขอให้ทั้งสองคนอย่าเอาความกัน
ข้อมูล คม ชัด ลึก