วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551

สมัคร ยื่นใบลาออกจาก พปช.แล้ว! พร้อมแถลงข่าวบ่ายนี้



สมัคร ยื่นใบลาออกจาก พปช.แล้ว! พร้อมแถลงข่าวบ่ายนี้

โดย โพสต์ทูเดย์
วัน อังคาร ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551 13:37 น.

สมัครส่งโทรสาร แจ้งนายทะเบียนขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชนแล้ว ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคหลุดยกชุด เตรียมจัดประชุมใหญ่ภายใน60วันหาหัวหน้าคนใหม่ทำหน้าที่แทน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากอาคารIFCTที่ทำการพรรคพลังประชาชน ว่า นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน โดยมีนายทะเบียนได้นัดสื่อมวลชนแถลงข่าวในช่วงบ่ายของวันนี้

รายงานข่าวจากพรรคพลังประชาชน แจ้งว่า ได้ส่งโทรสารยื่นใบลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ให้นายสมาน เลิศวงศ์รัฐ กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ในฐานะนายทะเบียนพรรค เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เวลาต่อมา นายสมาน เลิศวงศ์รัตน์ นายทะเบียนพรรคพลังประชาชน เปิดเผยว่า นายสมัคร ได้ส่งโทรสารลงวันที่ 26 ก.ย.2551 แจ้งมายังพรรคเพื่อขอลาออก จากการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน โดยให้เหตุผลว่า ตนไม่ได้ลงตำแหน่ง หรือ ทำหน้าที่บริหารงานในคณะรัฐบาล จึงต้องการเปิดโอกาสให้พรรคให้คัดเลือกบุคคลอื่นที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งการลาออกของนายสมัคร ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันพ้นจากหน้าที่

นายสมาน กล่าวต่อว่า พรรคจะต้องจัดการประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ภายใน 60 วัน โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ภายหลังจากที่ได้คณะรัฐมนตรี ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยระหว่างนี้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 จะทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคไปก่อนจนกว่าจะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งการลาออกของนายสมัคร ไม่ได้เป็นเพราะถูกกดดันจากสมาชิกภายในพรรคยังคงเป็น ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนเช่นเดิม

วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2551

สมชาย กลับบ้านนครฯ ในพื้นที่ยังไม่มีกลุ่มต่อต้าน


สมชาย กลับบ้านนครฯ ในพื้นที่ยังไม่มีกลุ่มต่อต้าน

โดย ไทยรัฐ
วัน เสาร์ ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2551 10:04 น.
เจ้าตัวเผยไม่ได้เตรียมการอะไรเป็นพิเศษ ด้านผู้การฯตำรวจเมือง คอน เผยเหตุการณ์ในพื้นที่ยังปกติ แต่เตรียมกำลังไว้ดูแลนายก - รัฐมนตรีเต็มที่
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (27 ก.ย.) ว่า ขณะนี้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารไปเยี่ยมบ้านเกิดและปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชแล้ว อย่างไรก็ตาม การเดินทางไป จ.นครศรีธรรมราชของนายสมชายในครั้งนี้ ไม่มีรัฐมนตรีและผู้ติดตามมากนัก

ด้านนายสมชาย กล่าวถึงกรณีอาจจะมีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในพื้นที่ภาคใต้เตรียมต่อต้านการเดินทางไป จ.นครศรีธรรมราชครั้งนี้ ว่า ไม่ได้เตรียมการอะไรเป็นพิเศษ

ขณะที่พล.ต.ต.กระจ่าง สุวรรณรัตน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร (ผบก.ภ.) จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขณะนี้ เหตุการณ์ในพื้นที่ยังคงปกติ อย่างไรก็ตาม ตำรวจได้เตรียมกำลังไว้ดูแลความสงบเรียบร้อยระหว่างนายสมชายปฏิบัติภารกิจในพื้นที่อย่างเต็มที่

วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2551

ในหลวงโปรดเกล้าฯครม. สมชาย1

ในหลวงโปรดเกล้าฯครม. สมชาย
โดย กรุงเทพธุรกิจ
วัน พุธ ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2551 00:00 น.ในหลวงโปรดเกล้าฯคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ สมชาย ควบกลาโหม สุชาติ นั่งคลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ดังนี้

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี
นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี
นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายสุพล ฟองงาม รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง
ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมช.คลัง
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา
นายอุดมเดช รัตนเสถียร รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรและสหกรณ์
นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร รมช.เกษตรและสหกรณ์
นายธีระชัย แสนแก้ว รมช.เกษตรและสหกรณ์
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม
นายโสภณ ซารัมย์ รมช.คมนาคม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมช.คมนาคม
นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายมั่น พัธโนทัย รมว. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน
นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์
นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ รมช.พาณิชย์
พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์
พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รมว.มหาดไทย
นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมช.มหาดไทย
นายประสงค์ โฆษิตานนท์ รมช.มหาดไทย
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รมว.ยุติธรรม
นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วัฒนธรรม
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายศรีเมือง เจริญศิริ รมว.ศึกษาธิการ
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สาธารณสุข
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.อุตสาหกรรม

วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

พันธมิตรฯ ปฏิเสธสูตร 50:50


พันธมิตรฯ ปฏิเสธสูตร 50:50 [23 ก.ย. 51 - 04:37]

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 ก.ย. ที่ห้องผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดย พล.ต.จำลอง กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรฯยืนยันจุดยืนต่อต้านการแก้ รัฐธรรมนูญ 2550 และเสนอการเมืองใหม่ ซึ่งรูปแบบการเมืองใหม่ มีความแตกต่างจากระบบเก่าอย่างชัดเจน โดยยังจะเป็นการเลือกตั้งแบบ 100% แต่แยกออกเป็นสองทาง คือ การเลือกตั้งผ่านเขตพื้นที่ และเลือกตั้งผ่านกลุ่มสาขาอาชีพ ตามสัดส่วนประชากร ยืนยันว่าไม่ได้เป็นแบบ 50:50 ตามที่สื่อเสนอ และไม่ใช่การสรรหาหรือแต่งตั้ง ไม่อยากให้เข้าใจผิด เพราะวันนี้มีการใส่ร้ายเรา ขณะนี้ยังเป็นเพียงตุ๊กตา ที่ยังไม่ได้กำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน ไปกำหนดไม่ได้ เพราะจะเถียงกันไม่จบ และยังเปิดกว้างสำหรับทุกความคิดเห็น โดยในวันที่ 27 ก.ย.นี้ เวลา 14.00 น. จะมีการเปิดเวที โดยเชิญผู้มีความรู้ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม 30-40 คนมาหารือ

การเมืองใหม่ต้านเผด็จการนายทุน

พล.ต.จำลองกล่าวว่า การเสนอการเมืองใหม่ เพื่อเป็นการป้องกันนายทุนเข้าไปซื้อสภาฯ ครอบงำอำนาจนิติบัญญัติและบริหาร จนเกิดเผด็จการรัฐสภา อีกทั้งที่ผ่านมากลุ่มอาชีพมีจำนวนมากแต่ไม่มีโอกาสมาเป็น ส.ส. จึงต้องไปสวามิภักดิ์นักการเมือง ทั้งนี้ ในแต่ละอาชีพ อาจคัดเลือกตัวแทนลงสมัคร โดยประชาชนอาจต้องเลือกตั้งสองส่วน คือ เขตพื้นที่และสาขาอาชีพ มั่นใจว่าจะดีกว่าแบบเก่า และจะไม่ถูกครอบงำโดยง่าย เนื่องจาก มีความหลากหลาย แต่จะเป็นการมีตัวแทนที่แท้จริงไปคานอำนาจ หากดำเนินการได้ จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นจริงดังคำจำกัดความ และเราก็ไม่ต้องมาชุมนุมกันอีกต่อไป

รื้อเวทีมัฆวานฯ เปิดทางขบวนเสด็จ

พล.ต.จำลองกล่าวอีกว่า ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. นี้ กลุ่มพันธมิตรฯจะรื้อเวทีและเต็นท์บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อเปิดเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินรวมทั้งสิ้น 6 วัน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว จะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยจะปรับรูปแบบมาใช้เป็นรถขยายเสียงเคลื่อนที่แทน ตามเจตนารมณ์ของการชุมนุม ที่ยึดหลักปกป้องสามสถาบันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การเปิดทางครั้งนี้ ถือว่าดำเนินการด้วยความเต็มใจ

คนเป็นกาวใจต้องมีอำนาจตัดสินใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ติดต่อขอเจรจามาบ้างหรือไม่ พล.ต.จำลองตอบว่า ยังไม่มีใครในรัฐบาลติดต่อมา แต่ยืนยันว่าเราไม่ปิดประตูการเจรจา แต่ทราบว่าขณะนี้รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการตั้ง ครม.ใหม่ก่อน จึงคิดว่าควรทำภารกิจตรงนั้นให้เสร็จ แล้วค่อยคุยเรื่องนี้ แต่คนที่จะมาคุย ขอให้เป็นคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์ แต่เราคงไม่สามารออกไปเจรจานอกทำเนียบฯได้ เพราะออกไปตำรวจก็จับ ยืนยันว่าไม่ได้ตั้งเงื่อนไข แต่ช่องทางอื่น เช่น ทางโทรศัพท์ก็สามารถทำได้ แต่สมมติหากทางรัฐบาลต่อสายมายังแกนนำคนใดคนหนึ่ง ก็ยังไม่ถือเป็นข้อสรุป เพราะต้องนำหารือกับแกนนำทั้งหมด และถ้าเป็นเรื่องสำคัญ ก็ต้องสอบถามมติจากผู้ชุมนุม เพราะถ้าเราตัดสินใจอะไรไป แล้วผู้ชุมนุมไม่ยอม จะเป็นปัญหา เมื่อถามกรณี พล.ต.สนั่นจะชักชวน พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อน จปร.7 ของ พล.ต.จำลองมาช่วยเจรจา พล.ต.จำลองตอบว่า ไม่มีปัญหาเป็นใครก็ได้ทั้งนั้น ขอให้มีอำนาจในการตัดสินใจ

เพิ่มอำนาจประชาชนถอดถอน ส.ส.

นายพิภพกล่าวว่า สำหรับการเมืองใหม่ได้มีการเพิ่มเนื้อหาที่สำคัญ อาทิ องค์กรสื่อต้องมีอิสระในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ประชาชนในเขตเลือกตั้งมีสิทธิ์เรียกคืนตำแหน่ง ส.ส.ได้ ให้อำนาจประชาชนในการถอดถอนนักการเมืองได้ง่ายขึ้น โดยมีกฎหมายรองรับและประชาชนสามารถยื่นเรื่องต่อศาลได้โดยตรง เพื่อลดขั้นตอนและคดีเกี่ยวกับการทุจริตต้องไม่มีอายุความ ดังนั้น การเมืองใหม่จึงเป็นการเพิ่มบทบาทการเมืองภาคประชาชน ให้เข้มข้นกว่าเดิม

จัดเสวนาวิชาการชำแหละสันติอโศก

วันเดียวกัน ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินใน ได้มีการเสวนาวิชาการเรื่อง “ลัทธิสันติอโศก ได้อำนาจรัฐ แล้วพระพุทธศาสนาจะอยู่อย่างไร” โดยพระเทพวิสุทธิกวี เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ว่าจะเกิดลัทธิอะไรขึ้นมา พระพุทธศาสนาจะสามารถคงอยู่ได้อย่างแน่นอน แต่องค์กรทางพุทธก็ไม่ควรอยู่นิ่ง ควรที่จะออกมาหามาตรการในการดำเนินการต่างๆด้วย

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า กลุ่มสันติอโศกมีการตั้งพรรคการเมืองใช้ชื่อว่า “พรรคฟ้าดิน” ซึ่งจะมาอ้างว่าสันติอโศกไม่รู้เรื่องไม่ได้ เพราะชื่อของเลขาธิการพรรค คือ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ซึ่งเป็นคนของสันติอโศก และการที่สันติอโศกบอกว่าไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีเป้าหมายทางการเมือง อยากถามว่าหากไม่มีเป้าหมายทางการเมืองแล้ว จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาหาอะไร อีกทั้งการที่สมณะของสันติอโศกแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ ก็เพื่อเป็นเกราะคุ้มครองไม่ให้ถูกคนอื่นต่อว่าในการดำเนินการทางการเมือง เพื่อเป็นการคุ้มครองตัวเองให้ไปสู่เป้าหมายทางการเมือง และยืนยันว่าอีกไม่นานจะมีการดำเนินการเอาทำเนียบรัฐบาลคืนจากกลุ่มพันธมิตรฯแน่นอน เพราะขณะนี้มีการหารือกันถึงแนวทางต่างๆมาหลายครั้งแล้ว

อ้างต้องการสถาปนาลัทธิทางศาสนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเสวนาวิชาการดังกล่าว มีการแจกจ่ายแถลงการณ์ขององค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทย ระบุว่าการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มสันติอโศก มีเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ ตามทฤษฎีของสมณะโพธิรักษ์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวทางที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แสดงให้เห็นว่าสันติอโศกต้องการจะสถาปนาลัทธิศาสนาของตัวเอง องค์กรชาวพุทธฯ จึงขอเรียกร้องให้สมณะโพธิรักษ์และสันติอโศก ยุติความพยายามในการสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ ให้กลุ่มสันติอโศกออกจากทำเนียบรัฐบาล ให้สมณะโพธิรักษ์ปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง และนำ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เข้ามอบตัว และเรียกร้องให้ผู้ดูแลกฎหมายดำเนินการกับสันติอโศก เพราะศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อปี 2541 ว่าสันติอโศกมีความผิดทางศาสนา และไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก

วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

“ซิปี ลิฟนี” นายกฯหญิงยิวคนใหม่?


“ซิปี ลิฟนี” นายกฯหญิงยิวคนใหม่? [21 ก.ย. 51 - 00:44]

ยุทธภพการเมืองอิสราเอลซึ่งกำลังเผชิญวิกฤติขนานหนัก เนื่องจากนายกรัฐมนตรี เอฮุด โอลเมิร์ต โดนข้อหาทุจริตคอรัปชันยั้วเยี้ยหลายคดี ต้องประกาศว่าพร้อม “ไขก๊อก” จะลาออกทันทีที่พรรคคาดิมาได้หัวหน้าคนใหม่ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนตน...

มีสีสันเพิ่มชีวิตชีวาทันที เมื่อผลเลือกตั้งหัวหน้าพรรควันพุธที่ 17 ก.ย. นางซิปี ลิฟนี วัย 50 ปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พิชิตชัยชนิดฉิวเฉียดเส้นยาแดงผ่าแปด จากสมาชิกพรรค 74,000 คน เธอได้คะแนนเสียง 20,000 หย่อนนิดหน่อย (แค่ครึ่งเปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรอิสราเอล) หรือเท่ากับร้อยละ 43 เฉือนคู่แข่งที่ตามมาอันดับสอง คือ นายชาอูล โมฟาซ รัฐมนตรีคมนาคมสายเหยี่ยวและอดีตผู้บัญชาการกองทัพ เพียงจุดเปอร์เซ็นต์เดียว (431 แต้ม) ส่วนผู้ขันอาสาอีกสองคน... นายแมร์ ชีตริต รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ นายเอวี ดิชเตอร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานรักษาความมั่นคงชินเบต ถูกทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่น

แต่คะแนนเสียงนี้บ่งชี้นัยน่าสนใจหลากหลายแง่มุม...กฎกติกาธรรมนูญพรรคคาดิมา ถ้าไม่มีใครได้คะแนนเสียงสมาชิกพรรคผ่านเกณฑ์ร้อยละ 40 จะต้องให้ผู้ครองอันดับหนึ่งและสองมาแข่งกันใหม่ นางลิฟนีได้ 43% จึงรอดสันดอน

นัยต่อมา...ลิฟนีได้รับอาณัติให้รวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา (คเนสเสต) หากได้ข้างมากเพียงพอเธอก็ขึ้นแท่นนายกรัฐมนตรี ฟอร์มรัฐบาลบริหารบ้านเมือง

อาจกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองแห่งประวัติศาสตร์การเมืองอิสราเอล ตามรอย นางโกลดา แมร์ หัวหน้ารัฐบาลเพศแม่คนแรก คุณยายแมร์สะด๊วบบัลลังก์ระหว่าง พ.ศ.2512-2517 เธอสร้างชื่อเสียงกระฉ่อนเวทีการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศ จนได้รับสมญานาม “สตรีเหล็ก” ทำเอาผู้หญิงทั่วพิภพปลาบปลื้ม ภาพนั้นผ่านพ้นยาวนาน 34 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่ฝันของลิฟนีนอกจากไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบแล้ว เธอยังต้องฟันฝ่าขวากหนามไม่รู้กี่ด่าน อุปสรรคแรกคือวิกฤติการเมือง มูลฐานจากนายกรัฐมนตรีโอลเมิร์ตโดนกล่าวหาว่าทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่ยังหาทางปิดฉากยุติไม่ลง

นำไปสู่ปัญหาความไม่แน่ไม่นอน... ลิฟนีจะสามารถโน้มน้าวสมาชิกคเนสเสตสนับสนุนให้ฟอร์มรัฐบาลได้เพียงพอหรือไม่อย่างไร “กว่าจะแบ่งเค้กลงตัว ลิฟนีต้องร่ายมนตราเจรจาเกลี้ยกล่อมขอเสียงสนับสนุน เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาดชนิดไม่เคยเจอมหาหินเช่นนี้มาก่อนแน่ ตะละกลุ่มตะละมุ้งล้วนเขี้ยวลากดิน” บทบรรณาธิการ นสพ.เยดิออต อะฮาโรนอต ฟันธงสรุป

ลิฟนีอดีตสปายหน่วยสืบราชการลับ “มอสสาด” เธอเป็นหัวหน้าทีมอิสราเอล ที่พี่เบิ้มสหรัฐอเมริกาหนุนหลังให้เปิดเจรจาสันติภาพกับปาเลสไตน์ จะมีสัมปทานเวลา “เดตไลน์” เส้นตายภายใน 42 วัน เร่งมือหาลู่ทางจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จเรียบร้อย หาไม่ก็จะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนครบวาระ ซึ่งแนวโน้มไม่ค่อยดีต่อลิฟนีและพลพรรคค่ายคาดิมาเลย เนื่องจากสำนักโพลต่างๆหยั่งเสียงสำรวจประชามติ

วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

พันธมิตรฯกร้าว 'สมชาย' มาโดนขับไล่อีกแน่



พันธมิตรฯกร้าว 'สมชาย' มาโดนขับไล่อีกแน่ [16 ก.ย. 51 - 04:53]


ที่ บช.น. วันที่ 15 ก.ย. พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. รักษาการแทน ผบช.น. เรียกประชุมนายตำรวจระดับรอง ผบช.น. ผบก.น.1-9 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปและประเมินสถานการณ์กลุ่มพันธมิตรฯปักหลักชุมนุมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น พล.ต.อ.จงรักกล่าวว่า หลังจากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตำรวจยังคงกำลังในการดูแลความสงบเรียบร้อยไว้ 15 กองร้อย จำนวน 2,300 นาย และยังมีกำลังสนับสนุนจากทหารอีกจำนวนหนึ่ง สามารถออกปฏิบัติการได้ทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ ฉุกเฉิน อยากเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมทุกกลุ่มชุมนุมกันโดยสงบปราศจากอาวุธ และขอร้องทุกฝ่ายเคารพต่อกฎหมาย หลีกเลี่ยงการปะทะกัน ตำรวจยังใช้มาตรการเดิมคือใช้ความนุ่มนวล ไม่ใช้ความรุนแรงเป็นอันขาด โดยจะใช้โล่ในการป้องกันตัวเองเพียงอย่างเดียว ไม่มีการใช้กระบอง หรืออุปกรณ์ปราบจลาจล เว้นแต่จะใช้ความรุนแรงกับผู้บุกรุกสถานที่ราชการเท่านั้น

จับตา นปช.นัดชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.
พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ได้รับรายงานว่ากลุ่ม นปช.นัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย. ที่สนามหลวง ซึ่งต้องติดตามข่าวความเคลื่อนไหว และจะนำบทเรียนต่างๆที่เคยเกิดขึ้นมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไข ตำรวจต้องใช้แนวทางในการป้องกัน ที่จะมาบอกว่าไม่มีอะไรจากนี้คงไม่เชื่อ ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยการเปิดประชุมสภาฯโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น จะใช้มาตรการเดิม พื้นที่ด้านนอกรัฐสภาใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจและโล่ ด้านในเป็นกองร้อยควบคุมฝูงชนที่มีอุปกรณ์ครบมือ ป้องกันไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องบุกรุกเข้าไป และต้องสกัดกั้นผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายให้อยู่ห่างกัน

พล.ต.ต.สุรพลกล่าวว่า ได้ตั้งทีมสืบสวนติดตาม 9 แกนนำพันธมิตรฯที่ถูกออกหมายจับแล้ว หากออกมานอกทำเนียบรัฐบาลจะจับกุมทันที เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ถ้ามีเงื่อนไขอื่นที่จะนำไปสู่ความวุ่นวาย เจ้าหน้าที่รอได้ เพราะคดีดังกล่าวอายุความ 20 ปี

พันธมิตรฯปรับพื้นที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า
ด้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยที่ปักหลักชุมนุมอยู่ในทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่กองทัพธรรมประมาณ 100 คน นำโดย ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ประสานงานกองทัพธรรม ช่วยกันรื้อไม้รองนั่งที่วางทับโคลนบริเวณหน้าสนามตึกไทยคู่ฟ้าออก เพื่อปรับพื้นที่ใหม่ เนื่องจากผู้ชุมนุมประสบปัญหาระบบสุขอนามัย โดยเฉพาะกลิ่นเน่าเหม็นและยุงลายที่มาวางไข่ตามแอ่งน้ำ โดยเจ้าหน้าที่ กองทัพธรรมต้องโกยดินโคลนและหญ้าที่เน่าออก แล้วนำปูนขาวมาโรยทับถึง 3 ชั้น พร้อมนำรถบำบัดน้ำเสียกำจัดกลิ่นและไขมันมาดูดดินโคลนที่เสียออกไป ก่อนที่จะนำทรายมาเททับอีกชั้นหนึ่งเพื่อดูดซึมซับน้ำหากมีฝนตกลงมาอีก แล้วจึงนำไม้รองนั่งมาวางทับคืนที่เดิมเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมใช้นั่งฟังการปราศรัย

ตีปี๊บแนวคิดรัฐบาลประชาภิวัฒน์
ต่อมาเวลา 10.00 น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายสมศักดิ์กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯเสนอให้จัดตั้งรัฐบาลประชาภิวัฒน์ว่า รายละเอียดยังไม่ได้กำหนด เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นเป้าหมายก่อน และรอความเห็นจากหลายภาคส่วน เป้าหมายรัฐบาลประชาภิวัฒน์ต้องการผู้บริหารที่ไม่ทุจริต ยอมรับความคิดเห็นและมีส่วนร่วมกับประชาชน ต้องตรวจสอบได้ ถ้าไม่ดีต้องถอดถอนได้ แนวคิดการเมืองใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นสัดส่วน 70/30 ที่เสนอมาเพื่อให้เป็นตัวอย่าง หลักการคือไม่ต้องการ ส.ส.และ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 100% นักการเมืองต้องมาจากหลายกลุ่มหลายอาชีพต้องมาจากการคัดสรร แนวคิดดังกล่าวเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่มีตัวแทนมาจากหลายสาขาอาชีพอย่างชัดเจน ผู้สื่อข่าวถามว่าแนวคิดการเมืองใหม่จะไปถึงรัฐบาลได้อย่างไร นายสมศักดิ์ตอบว่า เรื่องนี้อยู่ที่จิตสำนึกของรัฐบาล น่าจะมีการผลักดันเต็มที่เพื่อหาทางออก โดยอาศัยการต่อสู้ของภาคประชาชนที่ไม่ได้ยึดติดผลประโยชน์ส่วนตัว

กร้าว “สมชาย” มาโดนขับไล่อีกแน่
ต่อข้อถามว่า ถ้าพลังประชาชนยืนยันจะเสนอชื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรี ทางกลุ่มพันธมิตรฯจะเคลื่อนไหวอย่างไร นายสมศักดิ์ตอบว่า เราไล่อยู่แล้ว ถือว่าไม่ฟังเสียงประชาชน คิดว่ารัฐบาลไม่สามารถอยู่ได้ ต้องมีการเปลี่ยน แปลง อย่างที่ผ่านมาที่มีการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้นายสมัคร สุนทรเวช ได้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ กลับมาวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นเราต้องขับไล่ต่อไปจนกว่าคนพวกนี้จะออกไปอย่างเบ็ดเสร็จ และมีรัฐบาลประชาภิวัฒน์ เมื่อถามว่าจะไม่ให้โอกาสนายสมชายทำงานก่อนหรือ นายสมศักดิ์ตอบว่า เราไม่ยอมรับนายสมชายเป็นนายกฯใหม่ เพราะพฤติกรรมชัดเจนยิ่งกว่านายสมัคร สุนทรเวช ที่ถูกมองว่าเป็นนอมินี แต่นายสมชายเป็นยิ่งกว่านั้น เรียกได้ว่าเป็นเจ้าภาพของการโกง พฤติกรรมที่ผ่านมาแสดงเจตนาอยู่กับคนทำชั่ว แต่ทำไมพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลจึงยังเสนอชื่อนายสมชายเป็นนายกฯอยู่อีก

“สุริยะใส” อึ้งคำถามม็อบทำอุบาทว์
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อเวลา 19.30 น. ที่หลังเวทีปราศรัย สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ แถลงถึงการหาตัวนายกฯที่ยังไม่ลงตัวว่า เป็นการต่อรองผลประโยชน์และโควตาทางการเมือง อีก 1-2 วันก็คงจะได้ข้อยุติ เพราะไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ยังมีนายคนเดียวกันคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงแค่ยกหูโทรศัพท์คุยกันก็ได้ข้อยุติ ทั้งนี้ ได้มีการประชุมการ์ดพันธมิตรฯ โดยเฉพาะประเด็นการกระทบกระทั่งกับสื่อมวลชน ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากภาวะอารมณ์ของการ์ด แต่สื่อมวลชนก็ควรระวังการพูดจาด้วย ทุกวันนี้ฝ่ายตรงข้ามแฝงเข้ามาหลายรูปแบบ บางคนเข้ามาเป็นการ์ด บางคนแขวนป้ายเป็นสตาฟฟ์

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีผู้ชุมนุมบางคนไปอุจจาระในซอกข้างรังนกกระจอก ซึ่งเป็นห้องทำงานนักข่าว และบางคนไปสำเร็จความใคร่ให้เห็นด้วย นายสุริยะใสตอบว่า มีหรือ แล้วจะให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องดูแล ขอให้ทนอีกหน่อย นักข่าวอาจจะเดือดร้อน แต่ไม่เกินเดือนนี้เชื่อว่าจะได้พื้นที่ทำงานคืน

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

73 สส.ก๊วนเนวินจี้กก.บห.ทบทวนหนุนสมชาย


73 สส.ก๊วนเนวินจี้กก.บห.ทบทวนหนุนสมชาย
โดย คม ชัด ลึก
วัน จันทร์ ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551 00:00 น.


ออกแถลงการณ์ 73 ส.ส.อีสาน ขอให้ทบทวน ค้าน มติกรรมการบริหารพรรคบีบสมาชิก


นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.โคราช กลุ่มเพื่อนเนวิน พรรคพลังประชาชน อ่านแถลงการณ์ 73 ส.ส.อีสาน พรรคพลังประชาชน โดยขอให้กรรมการบริหารพรรคทบทวนมติการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกฯ เพราะคนที่เหมาะสมต้องเป็นบุคคลที่ต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งนี้ไม่ปฏิเสธว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคเป็นคนดี เหมาะสมเป็นนายกฯ แต่หากพิจารณาต้องอยู่บนพื้นฐานการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อย่างไรก็ตามพร้อมเลือกบุคคลตามที่พรรคเสนอ หากบุคคลนั้นไม่ทำให้เกิดปัญหาซ้ำเติมประเทศแต่หากพรรคยังมีมติที่ทำให้เกิดผลกระทบก็จะขอใช้เอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ

แถลงการณ์ของ 73 ส.ส.อีสาน พรรคพลังประชาชน ยังไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการออกนิรโทษกรรม 111 คนไทยรักไทย และกลุ่มพันธมิตรฯ โดยขอให้การดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมล่าสุดการประชุมส.ส.พรรคพลังประชาชน ไม่ราบรื่น ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน ค้านมติกรรมการบริหารพรรคไม่สนับสนุน "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" เป็นนายกฯ

ส่วนที่ประชุม ส.ส.พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นการแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ให้รับทราบเกี่ยวกับการเสนอชื่อให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เป็นไปด้วยความไม่ราบรื่นมากนัก เนื่องจากมี ส.ส.บางกลุ่ม โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน ที่มีมติเห็นต่างกับมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ทำให้การประชุม ส.ส.พรรคยาวนาน ส่งผลให้นายสมชาย ต้องยกเลิกการประชุมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างกะทันหัน ทั้งนี้จากการเปิดเผยของ นายสุรชัย เบ้าจรรยา ส.ส.อีสาน พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ส.ส.กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ก็มีความเข้าใจดี เพราะเป็นมติพรรคที่ ส.ส.ทุกคนต้องยอมรับ ซึ่งเรื่องนี้พรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน ซึ่งตนมั่นใจว่า จะไม่เกิดปัญหาเหมือนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนครั้งแรก แม้จะมี ส.ส.ที่มีความเห็นต่างกัน

ขณะที่นายทรงศักดิ์ ทองศรี รักษาการ รมช.คมนาคม ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีกลุ่มเพื่อนเนวินต้องการให้กรรมการบริหารพรรคทบทวนมติการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯว่า กลุ่มอยากให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะยังมีเวลาในการพิจารณาอีกมากก่อนถึงวันที่ 17 กันยายน เพื่อโหวตเลือกนายกฯ แต่ไม่ใช่ไม่สนับสนุน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรค เพราะทั้ง 3 ส.ก็มีคุณสมบัติที่เหมาะสมแต่ขอให้สมาชิกพรรคได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และเสนอให้ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเร่งพิจารณาไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคออกเป็นมติแล้วแจ้งให้สมาชิกพรรครับทราบเช่นนี้ อย่างไรก็ตามยืนยันการเคลื่อนไหวไม่ได้ทำเพื่อต่อรองตำแหน่ง

วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

สื่อเทศตามติดวิกฤติการเมืองไทย


สื่อเทศตามติดวิกฤติการเมืองไทย [13 ก.ย. 51 - 03:28]

โดย ไทยรัฐ

วันที่ 12 ก.ย. สำนักข่าวต่างประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งเอพี เอเอฟพีและรอยเตอร์ ต่างเฝ้าติดตามวิกฤติการเมืองไทยชนิดกัดไม่ปล่อย โดยต่างรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรของไทยต้องเลื่อนการประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ออกไปเป็นวันพุธที่ 17 ก.ย. จากกำหนดเดิมวันที่ 12 ก.ย. ตอนแรกคาดว่า นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ จะถูกเลือกกลับเข้ามาอีกครั้ง แต่ปรากฏองค์ประชุมสภาฯไม่ครบจำนวน เนื่องจากเกิดความแตกแยกขัดแย้งภายในพรรคพลังประชาชน ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลผสมอีก 5 พรรค ก็บอยคอตไม่เข้าร่วมการประชุม ส่งผลให้นายสมัครมีสภาพถูกโดดเดี่ยว การถูกต่อต้านอย่างไม่คาดหมายครั้งนี้ นับเป็นสัญญาณที่ชัดแจ้งเป็นครั้งแรกว่า แรง สนับสนุนนายสมัครในพันธมิตรรัฐบาลถูกกร่อนเซาะ ท่ามกลางวิกฤติการเมืองอันตึงเครียดที่ยืดเยื้อมาหลายสัปดาห์ ทำให้เกิดความหวั่นกลัวว่าประเทศไทยจะไร้ เสถียรภาพ เศรษฐกิจสับสนอลหม่าน หรือแม้แต่เกิดการปฏิวัติรัฐประหารอีก อย่างไรก็ตาม การเลื่อนการลงมติเลือกนายสมัครทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะอย่างฉับพลันกับกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งยึดทำเนียบฯขับไล่นายสมัครมาตั้งแต่ 26 ส.ค. ไปได้ชั่วระยะหนึ่ง

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551

สมัครถอดใจแล้ว! 3ส. ชิงดำ - เติ้ง เดินเกมลับลุยตั้งรบ.เอง


สมัครถอดใจแล้ว! 3ส. ชิงดำ - เติ้ง เดินเกมลับลุยตั้งรบ.เอง
โดย คม ชัด ลึก
วัน เสาร์ ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2551 00:00 น.

สภาล่มเลื่อนโหวตเลือกนายกฯ ไปพุธหน้า สมัคร ถอดใจไม่รับเก้าอี้นายกฯ-ไขก๊อกหัวหน้า พปช.เปิดทาง 3 ส.ชิงดำ ด้าน กลุ่มเพื่อนเนวิน หันสนับสนุน หมอเลี้ยบ แทน ส่วนอีสาน-เหนือ-กลาง ยังหนุน สมชาย-สมพงษ์ ขณะที่ เติ้ง เดินเกมลับลุยตั้งรัฐบาลเอง อ้างสิทธิพรรคร่วมอันดับ 2

ก่อนหน้านี้ในช่วงเย็นวันเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนมีมติให้ส่ง 3 แกนนำของพรรค คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรค นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรค และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค ไปเจรจาให้นายสมัครถอนตัวไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หมัก ถอดใจยันทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว

เมื่อเวลา18.30 น.วันที่ 12 กันยายน นายธีรพล นพรัมภา อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่บ้านพักของอดีตนายกรัฐมนตรีในซอยนวมินทร์ 81 หมู่บ้านโอฬาร ภายหลังเข้าพบนายสมัครว่า นายสมัครได้บอกว่า ทำหน้าที่ในการเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและรักษาประชาธิปไตยอย่างดีที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตามหลังจากนี้คงต้องขอยุติการทำหน้าที่เท่านี้ ส่วนการตัดสินใจหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับทางพรรคว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

นายสมานเลิศวงศ์รัฐ นายทะเบียนพรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า เพิ่งทราบข่าวการลาออกของนายสมัครจากทางโทรทัศน์ ซึ่งในข่าวระบุว่านายธีรพลเป็นผู้ให้ข่าว อย่างไรก็ตามการลาออกนั้นมีผลทันทีที่ยื่นหนังสือลาออกถึงเลขาธิการพรรค หรือผ่านนายทะเบียนพรรค ส่วนขั้นตอนต่อจากนั้นคณะกรรมการบริหารก็จะตั้งผู้รักษาการหัวหน้าพรรคขึ้นมา โดยจะเป็นรองหัวหน้าพรรคคนใดก็ได้ แต่ต้องรอการประชุมใหญ่ของพรรค เพื่อคัดเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551

ผบ.สส.ถกด่วนรับมือม็อบ2ฝ่ายที่รัฐสภา


ผบ.สส.ถกด่วนรับมือม็อบ2ฝ่ายที่รัฐสภา
โดย คม ชัด ลึก
วัน ศุกร์ ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551 00:00 น.
รัฐสภา ผวาม็อบตัดไฟ สั่งดับทั้งอาคาร ซ้อมใช้ไฟสำรอง คนรักสมัคร ชุดแรกมาแล้ว ปักหลักหนุน สมัคร รีเทิร์นนายกฯ สนธิ ประกาศพรุ่งนี้เป็นสงครามครั้งสุดท้าย เชื่อหากดัน สมัคร นั่งนายกฯซ้ำ แผ่นดินลุกเป็นไฟแน่

เมื่อเวลา 20.30 น.วันที่ 11 กันยายน กลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า คนรักสมัคร ประมาณ 10 คน สวมเสื้อสีแดง ได้เดินทางมาถึงบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อปักหลักชุมนุมสนับสนุน นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และคาดว่าจะทยอยกันมาเรื่อยๆ

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระดมกำลัง 5 กองร้อย หรือประมาณ 750 คน ตรึงกำลังอย่างหนาแน่น นอกจากนี้เจ้าหน้าตำรวจประจำรัฐสภา ยังได้แจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่าให้รีบออกจากอาคารรัฐสภาก่อนเวลา 21.00 น.เนื่องจากจะมีการซ้อมดับไฟทั้งหมดเพื่อทดลองใช้ไฟสำรองภายในอาคาร ในกรณีที่รัฐสภาถูกตัดไฟในวันพรุ่งนี้(12ก.ย.)

ผบ.สส.ถกด่วนรับมือม็อบ2ฝ่าย

ภายหลังที่ พรรคพลังประชาชน มีมติเสนอชื่อ นายสมัคร กลับเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ส่งผลให้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน เพื่อคัดค้าน ขณะเดียวกัน แกนนำกลุ่ม นปช. ก็นัดรวมตัวเพื่อเตรียมเคลื่อนไหวเช่นกัน

สนธิ เชื่อแผ่นดินลุกเป็นไฟแน่

เมื่อเวลา 21.50 แกนนำพันธมิตรได้ขึ้นเวทีปราศรัย นายสนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในแกนนำ กล่าวว่า การเสนอชื่อนายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ นั่นคือ พรรคพลังประชาชนกำลังยกเท้าลูบหน้าประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ

นัยยะนี้รุนแรงและมีความหมายต่อชีวิตเรามาก ชาติจะอยู่รอดหรือไม่ขึ้นกับพวกเรา การต่อสู้ครั้งนี้ ถ้าแพ้หมายถึงชาติบ้านเมืองไม่มีที่ยืนให้คนดีอีกต่อไปแล้ว วันพรุ่งนี้มิใช่เป็นเพียงวันประวัติศาสตร์ แต่แสดงให้เห็นถึงสุดยอดความเลวร้ายของการเมืองระบบเก่าที่กำลังจะแสดงออกมา การเสนอชื่อนายสมัครนอกจากผิดจริยธรรม ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ดังนั้นแล้วเราจะยอมหรือไม่

“ขอให้ทุกคนมาร่วมอีกครั้งเพราะเป็นสงครามครั้งสุดท้ายจริงๆ เพราะการที่เขาทำอย่างนี้โดยส่งนายสมัครมาก็เพื่อแสดงว่าต้องการรบแตกหักกับประเทศไทย ไม่มีส่วนไหนของสังคมยอมรับการตัดสินใจของพลังประชาชน” นายสนธิ กล่าวและว่า

พรุ่งนี้เป็นวันพิพากษา เพราะหากนายสมัครขึ้นมาเป็นนายกฯ ขอให้เชื่อได้เลยว่าแผ่นดินลุกเป็นไฟแน่ๆ ขอให้ทุกคนออกมา อย่างน้อยก็เป็นการออกมาแสดงประชามติให้สังคมไทยเห็นว่ายังมีคนที่รู้จักผิดชอบชั่วดี อย่าหวังจะเห็นความรับผิดชอบจากพรรคร่วม

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

โหรคมช.ทัก ชู สมัคร นั่งนายกอีก นองเลือดแน่



โหร คมช.ทัก ชู สมัคร นั่งนายกอีก นองเลือดแน่
โดย มติชน
วัน พุธ ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551 00:00 น.ชี้ดวงบุญสมัคร หมดแล้ว ดวงอภิสิทธิ์ ยังไม่ถึงเวลา สถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายปี 2552


นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหรชื่อดัง จ.เชียงใหม่ หรือ"โหรคมช." ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเมือง ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี สิ้นสภาพเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า หากดื้อดึงที่จะเลือกนายสมัครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 สถานการณ์บ้านเมืองจะยิ่งวุ่นวายกว่าเดิม เพราะดวงบุญของนายสมัครหมดแล้ว หากดื้อดึงจะยิ่งทำให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งหากเป็นกลุ่มของพรรคพลังประชาชนขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลก็เหมือนเดิม สถานการณ์จะรุนแรง อาจจะถึงขั้นนองเลือดเหมือนที่ผ่านมา

เมื่อถามว่า หากเปลี่ยนขั้วให้พรรคประชาธิปัตย์มาจัดตั้งรัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติได้หรือไม่ นายวารินทร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์คงอยู่ในการบริหารประเทศได้สักระยะหนึ่ง เนื่องจากดวงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่อยู่ได้ไม่นานเหมือนกับนายสมัคร เพราะดวงของนายอภิสิทธิ์ ยังไม่ถึงเวลาของเขา หากขึ้นมาเป็นก็เป็นได้สักระยะหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายก็ล้มคว่ำเหมือนเดิม ตอนนี้ทุกฝ่ายจะต้องใช้เวรใช้กรรมไปก่อน ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้ก็ทุกฝ่ายจะต้องจับมือร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ




ต่อข้อซักถามว่า สมาชิกในพรรคพลังประชาชนมีใครโดดเด่นพอที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพบ้าง นายวารินทร์ กล่าวว่า ที่ชัดเจนไม่มีปรากฎ และตามที่จะผลักดันให้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรค ยังไม่มีฐานบุญเพียงพอที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สมาชิกพรรคมีการผลักดันขึ้นมาก็จะได้เป็นชั่วครูชั่วยามเท่านั้น

"กรรมบ้านเมืองจะคลี่คลาย และสถานการณ์บ้านเมืองจะดีขึ้นประมาณกลางปี 2552 ตอนนี้อยู่ระหว่างการใช้กรรมอยู่ ดังนั้นรัฐบาลแห่งชาติจะดีที่สุด และควรปรึกษาหารือทางออกร่วมกัน ตอนนี้ไม่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน หากชนก็อย่างเดียวก็จะนำความเสียหายให้กับบ้านเมือง" นายวารินทร์ กล่าว

วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

สมัคร หลุดตำแหน่ง นายกฯ มติศาลรธน.9-0ขาดคุณสมบัติ


สมัคร หลุดตำแหน่ง นายกฯ มติศาลรธน.9-0ขาดคุณสมบัติ

โดย คม ชัด ลึก
วัน อังคาร ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 16:36 น.
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดคุณสมบัติ สมัคร จัดรายการ ชิมไปบ่นไป- ยกโขยง 6 โมงเช้า ขัดรัฐธรรมนูญ หลุดเก้าอี้หลุดนายกฯ ด้วยมติเอกฉันท์ 9-0

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 9 กันยายน นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.และคณะรวม 29 คนและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในการรับจัดรายการ "ชิมไป บ่นไป" และรายการ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" เป็นนัดสุดท้าย

หลังจากได้นัดไต่สวนนายสมัคร และนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กรรมการบริหารบริษัท เฟซ มีเดีย ผู้ผลิตรายการชิมไปบ่นไป และยกโขยง 6 โมงเช้า เป็นนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การจัดรายการ "ชิมไป บ่นไป" และรายการ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" ของนายสมัครนั้น มุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ถือได้ว่าขัดรัฐธรรนูญ ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยมติเอกฉันท์ 9-0

วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

ถก 3 ฝ่ายแนะถอยคนละก้าว แนะนายก ออก


ถก 3 ฝ่ายแนะถอยคนละก้าว แนะนายก ออก
โดย โพสต์ทูเดย์
วัน จันทร์ ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551 00:00 น.
การประชุมร่วม 3 ฝ่าย ประธานวุฒิสภา แนะสมัครลาออกเปิดทางตั้งรัฐบาลใหม่ และพันธมิตรฯต้องยุติการชุมนุม

ความคืบหน้าการประชุมร่วม 3 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศ หลังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล ประกาศจุดยืนชัดเจนนายกรัฐมนตรีต้องลาออก ขณะที่นายสมัคร สุนทรเวช ยืนยันจะไม่ลาออก หรือยุบสภาตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้นำผลการหารือกับผู้บัญชาการทหารบก และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาแจ้งให้ที่ประชุมทราบ โดยผลการเจรจากับผู้บัญชาการทหารบก ตนเองได้แสดงความเป็นห่วงในสถานการณ์ขณะนี้ และอยากให้ทุกฝ่ายยึดความมั่นคงและประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก หันหน้าเข้าหากัน ถอยกันคนละก้าว ขณะที่ฝ่ายทหารได้ยืนยันหนักแน่น 2 ประเด็นหลัก คือ ไม่ให้ทหารใช้กำลังในการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ และทหารจะไม่ปฏิวัติรัฐประหารอย่างเด็ดขาด ซึ่งวิธีการทางรัฐสภา น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดของบ้านเมืองในขณะนี้

ตัวแทนพรรคการเมืองร่วมประชุม3ฝ่ายแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศ โดยเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออก และกลุ่มพันธมิตรฯต้องยุติการชุมนุม สำหรับการเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ได้ประสานไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการหารือกัน เนื่องจากเวลายังไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตามเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุด ทุกฝ่ายควรลดทิฐิ ถอยกันคนละก้าว พร้อมเสนอแนวทางปฏิบัติ คือ นายกรัฐมนตรีประกาศลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่ทุกฝ่ายรับได้ ทำหน้าที่ชั่วคราวระยะสั้น ก่อนคืนอำนาจให้ประชาชนต่อไป หรือประกาศยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ ส่วนพันธมิตรฯ ต้องเคารพอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และควรยุติการชุมนุม สำหรับแนวทางการทำประชามติที่นายกรัฐมนตรีเสนอ คณะทำงานเห็นว่าไม่น่าจะปฏิบัติได้ในขณะนี้.

พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมร่วม 3 ฝ่าย เพื่อหารือแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองว่า ทางเลือกในการแก้ไขปัญหา มีทั้งยุบสภา และให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่ขณะนี้ไม่สามารถเดาได้ว่านายกรัฐมนตรีจะเลือกแนวทางใด ส่วนการถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ยืนยันยังไม่มีการถอนตัวขณะนี้

ด้านนายนิกร จำนง รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า มารับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤติชาติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยก่อนหน้านี้ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค บอกว่าการแก้ไขปัญหาต้องถอยกันคนละก้าว ทั้งนี้เชื่อว่าการเจรจาร่วมกันจะเป็นทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหา แม้ขณะนี้การเจรจาจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่หากมีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะมีทางออก

วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551

เกณฑ์คน 2 พัน พิทักษ์ครม.สัญจรอุดรฯ

เกณฑ์คน 2 พัน พิทักษ์ครม.สัญจรอุดรฯ
โดย โพสต์ทูเดย์
วัน อาทิตย์ ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551 00:00 น.ประธานชมรมคนรักอุดร ขู่ทำร้ายร่างกายกลุ่มพันธมิตรฯทันที หากขวางการประชุมครม.สัญจร นายกฯมั่นใจปลอดภัย ไม่ได้ไปหาเรื่อง


นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ปลุกระดมผ่านสถานีวิทยุชมรมคนรักอุดร FM 97.50 ว่า ชมรมคนรักอุดรเตรียมสมาชิกชมรม จำนวน 2,000 คน ไปเฝ้าสนามบินอุดรธานี ในวันจันทร์ที่ 8 กันยายนนี้ เพื่อรักษาสนามบินไม่ให้กลุ่มพันธมิตรฯ มาต่อต้านการประชุม ครม.สัญจร

นายขวัญชัย กล่าวอีกว่า หากพบกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาก่อกวน จะส่งให้สมาชิกชมรมคนรักอุดรทำร้ายร่างกายทันที

ด้าน พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภารดรศักดิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี เตรียมกำลังตำรวจอุดรธานี และสนธิกำลังกับทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน อส. อพปร. เพื่อรับมือทั้ง 2 ฝ่ายที่อาจเกิดการปะทะกัน

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ระบุ การจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในวันอังคารนี้(9 ก.ย.) เชื่อว่าเป็นการจัดประชุมในจังหวัดที่มีความปลอดภัย และไม่น่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้น เพราะมี ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนอยู่ถึง 10 คน โดยจะพยายามหาโอกาสจัดประชุมสัญจรครั้งต่อไปอีกในจังหวัดที่มีความพร้อม

"สาเหตุที่จะไปครม.สัญจรวันอังคาร เพราะขอยืมสถานที่ไว้แล้ว ก็จัดประชุมสัญจรเลย ก็ไปจังหวัดที่ไม่มีใครก่อกวน จังหวัดที่มี ส.ส.อยู่ 10 คนของพลังประชาชน อย่างนี้ปลอดภัย ครั้งที่แล้วที่มีคนมาฟาดกัน แต่คราวนี้เราบอกว่าเราไม่ได้ไปหาเรื่อง" นายกรัฐมนตรี กล่าวใน "รายการสนทนาประสาสมัคร" เช้านี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ก่อนจะมีการประชุมครม.สัญจรนั้น ในวันที่ 8 ก.ย.จะได้รายงานผลการทำงานของรัฐบาลในรอบ 7 เดือนให้กับประชาชนได้รับทราบด้วย

ทั้งนี้ การประชุม ครม.สัญจรในวันที่ 9 ก.ย.จะมีขึ้นที่ จ.อุดรธานี ท่ามกลางการคัดค้านของกลุ่มพันธมิตรฯ อุดรธานี ที่ไม่เห็นด้วยและต้องการให้ยกเลิกการมาจัดประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.อุดรธานี เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ปะทะกันอีกระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลดังเช่นที่เคยเกิดมาแล้ว

วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2551

สว.จี้ นายกฯเร่งเคลียร์ปมการเมือง



สว.จี้ นายกฯเร่งเคลียร์ปมการเมือง

โดย โพสต์ทูเดย์
วัน ศุกร์ ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2551 14:22 น.


พล.อ.เลิศรัตน์ นำทีม ส.ว.นับ 100 คน แถลงเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรี เร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมคืนอำนาจให้ประชาชน-ขอให้กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมชุมนุมให้ยุติบทบาท-ภาพ:อภิชิต จินากุล ด้านวุฒิสภา เห็นชอบวาระแรก 119 ต่อ 5 เสียง ผ่านร่างพ.ร.บ.ประชามติ ก่อนลงมติ ส.ว.รุบสับมติครม.ให้ทำประชามติปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ชี้ขัดรธน. ประพันธ์ ย้ำ รธน.ระบุชัดเกณฑ์ตั้งหัวข้อประชามติเกี่ยวกับบุคคล-คณะบุคคลไม่ได้ ระบุ ถ้านายกฯดึงดันกกต.ท้วงไม่ได้ ชี้ ต้องมีพ.ร.บ.ประกอบฯรองรับด้วย


วันนี้ที่ รัฐสภา สมาชิกวุฒิสภา นับ100 คน ซึ่งมี ส.ว. ทั้งเลือกตั้งและสว.สรรหา นำโดยพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สว.สรรหา ได้เสนอทางออก 3 ข้อให้กับรัฐบาลถึงกรณีเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น โดยพล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ส.ว.ทุกคนตระหนักถึงปัญหาความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นในสังคมจนก่อให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้มีผู้บาดเจ็บกว่า 100 คนแล้ว และมีเสียชีวิต1 คน นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อและยาวนานยิ่งจะทำให้ยากแก่การเยียวยา


ดังนั้นทาง สว.ส่วนใหญ่ได้มีการหารือกันถึงสถานการณ์ดังกล่าวและปรารถนาให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทราบจุดยืน จึงขอเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ขอให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯและรัฐบาลเร่งรัดแก้วิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยสันติวิธี ด้วยการเข้าไปเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อให้ยุติปัญหาที่เกิดขึ้นโดยขอให้รีบเร่งทำในระยะเวลาที่สั้นที่สุด 2.หากไม่สามารถยุติปัญหาด้วยการเจรจาได้ขอให้นายกฯเลือกใช้หนทางแก้ไขตามระบอบประชาธิปไตยคือการการคืนอำนาจให้กับประชาชนและให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะไม่มีใครแพ้และชนะ


พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า 3.เมื่อนายกฯดำเนินการแล้วก็ขอให้ประชาชนทุกคนยุติการชุมนุมที่ผิดกฎหมายและยุติการหยุดงานประท้วง เพื่อมาช่วยกันตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมและช่วยกันตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้เกิดความโปร่งใส ซึ่ง ส.ว. ก็จะร่วมมือกับประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่นี้อย่างเต็มความสามารถ ขอยืนยันว่าการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาอื่นใดแอบแฝง หรือต้องการกดดดันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองที่จะได้รับผลกระทบที่จะตามมาและเราก็ไม่ได้ฝักฝ่ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ต้องการให้บ้านเมืองพัฒนาไปได้


มติที่ประชุมวุฒิสภารับหลักการ ร่างพ.ร.บ.ประชามติ 119 ต่อ 5(5ก.ย.) เวลา 09.45 น.การประชุมวุฒิสภา มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสร็จแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 302 วรรคสี่ และวรรคหก โดยวุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน


จากนั้น ส.ว.หลายคน อาทิ นายวรินทร์ เทียมจรัส นายสมชาย แสวงการ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหาอภิปรายติติงกรณีที่ครม.มีมติให้ทำประชามติกรณีความขัดแย้งในบ้านเมือง โดยระบุว่า ไม่มีเหตุให้ดำเนินการดังกล่าว และกกต.จะสามารถทำได้ภายในกี่วัน และจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้วุฒิสภาต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ด้วยความรอบคอบ เนื่องจากสภาผ่านวาระ 3 โดยมีการแก้ไขปรับปรุงพอสมควร ทั้งเรื่องสิทธิการลงประชามติ เหตุที่ทำให้ต้องลงประชามติ การชี้ขาดผลการลงประชามติ ข้อห้ามและการให้ข้อมูลในการลงประชามติ รวมถึงเกรงว่า กกต.จะสามารถดำเนินการลงประชามติให้เป็นไปตามเป้าหมายได้หรือไม่ นอกจากนี้กว่าวุฒิสภาจะพิจารณาเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด หากครม.ต้องการให้ทำประชามติ จะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และหากนายกฯ ยุบสภาหรือลาออก ร่างกฎหมายนี้จะมีสถานะอย่างไร


ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า ฝ่ายบริหารมักดำเนินโครงการหรือนโยบายที่มีผลกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชนและชุมชน กฎหมายฉบับนี้จึงมีขึ้นเพื่อถ่วงดุลระหว่างฝใยประชาชนกับฝ่ายการเมือง ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ควรเปิดให้ประชาชนเสนอประเด็นขึ้นมาให้สาธารณะทำประชามติได้ด้วย เช่นเดียวกับที่ประชาชนสามารถเข้าชื่อยื่นถอดถอนนักการเมืองได้


นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 302 บัญญัติให้กกต.ต้องปรับปรุงกฎหมายนี้ภายใน 1 ปี ภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งกกต.ได้ดำเนินการแล้ว และในส่วนระยะเวลาการพิจารณาภายใน 90 วันของสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่มีปัญหาแล้ว ส่วนมติครม.เรื่องการทำประชามตินั้น ตนยังไม่เห็น และยังไม่ทราบถ้อยคำของการขอทำประชามติว่าเป็นเรื่องอะไร แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 กำหนดหัวข้อการทำประชามติไว้ข้อ 2 ในวรรคสามว่า การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดแย้งหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลจะกระทำมิได้


“ กรณีที่ ส.ว. สงสัยว่า หากนายกฯประกาศหัวข้อประชามติ กกต.สามารถทักท้วงได้หรือไม่นั้น กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ให้อำนาจกกต.ทักท้วงประกาศของนายกฯ แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 165 บัญญัติว่า ก่อนที่นายกฯจะประกาศหัวข้อประชามติ ต้องถามความเห็นครม.ก่อนว่า สอดคล้องตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติหรือไม่ ไปเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือคณะบุคคลหรือไม่


นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้นายกฯปรึกษาประธานฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ผมเชื่อว่า ในทางปฏิบัติ นายกฯคงไปปรึกษา หากหัวข้อดังกล่าวไม่สอดคล้องในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ฝ่ายนิติบัญญัติคงทักท้วง และเมื่อมีการประกาศหัวข้อประชามติ กกต.คงไม่สามารถไปทักท้วงอะไรได้อีก เพราะนายกฯเป็นผู้บริหารประเทศ ” นายประพันธ์ กล่าว


นายประพันธ์ กล่าวว่า การที่ครม.จะทำประชามติต้องมีกฎหมายมารองรับ เพราะกฎหมายว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติในการทำประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ไม่สามารถนำมาบังคับได้ เนื่องจากแป็นกฎหมายเฉพาะเรื่อง ดังนั้นกกต.จึงไม่สามารถทำประชามติได้ถ้าไม่สามารถมีกฎหมายรองรับ


หลังจากอภิปรายนาน 1 ชั่วโมงครึ่ง ที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 119 ต่อ 5 งดออกเสียง 1 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 29 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการปะทะคารมกันเล็กน้อยระหว่างนายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหาที่เป็นอดีตส.ส.ร. 50 หลังจากนายศิริวัฒน์ ระบุว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 50 โหลยโท่ย ทำให้นายสุรชัย ลุกขึ้นตอบโต้ว่า เป็นการทำให้ผู้อื่นเสียหาย ทำให้นางสาวทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานขอให้ทั้งสองคนอย่าเอาความกัน


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการปะทะคารมกันเล็กน้อยระหว่างนายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหาที่เป็นอดีตส.ส.ร. 50 หลังจากนายศิริวัฒน์ ระบุว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 50 โหลยโท่ย ทำให้นายสุรชัย ลุกขึ้นตอบโต้ว่า เป็นการทำให้ผู้อื่นเสียหาย ทำให้นางสาวทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานขอให้ทั้งสองคนอย่าเอาความกัน


ข้อมูล คม ชัด ลึก

วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551

โพลล์ชี้เสียงก้ำกึ่งหนุน-ต้านรัฐบาล ค้านรัฐประหาร


โพลล์ชี้เสียงก้ำกึ่งหนุน-ต้านรัฐบาล ค้านรัฐประหาร

โดย คม ชัด ลึก

วัน พุธ ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551 00:00 น.เอแบคโพลล์ สำรวจความเห็นหลัง รัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เห็นด้วยพอกับไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้รัฐประหาร

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินและข้อดีข้อเสียของการยึดอำนาจ กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี อยุธยา ราชบุรี นครปฐม ระยอง หนองคาย อุบลราชธานี นครราชสีมา สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 3,083 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินโครงการวันที่ 2-3 กันยายน 2551

ผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกศึกษาหรือร้อยละ 90.8 รับทราบข่าวการประกาศภาวะฉุกเฉิน ในขณะที่ร้อยละ 9.2 ไม่ทราบข่าว และที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนที่ถูกศึกษาก้ำกึ่งกัน คือร้อยละ 50.8 เห็นด้วยกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะ เหตุการณ์ความวุ่นวายจะได้ยุติโดยเร็ว / ลดความรุนแรงของการปะทะ / ไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงบานปลาย / ถึงเวลาที่ต้องทำ และเหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นต้น ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 49.2 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะ รัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบ ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรเลย รุนแรงเกินไป จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลงไปอีก เป็นต้น

เมื่อจำแนกความคิดเห็นออกตามเพศ อายุ อาชีพ การศึกษา และรายได้ พบว่า ชายร้อยละ 52.4 และหญิงร้อยละ 49.5 เห็นด้วย กลุ่มช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปีร้อยละ 57.1 กลุ่มอายุระหว่าง 20 - 29 ปีร้อยละ 55.4 กลุ่มอายุระหว่าง 30 - 39 ปีร้อยละ 50.3 กลุ่มอายุระหว่าง 40 - 49 ปีร้อยละ 49.9 และกลุ่มอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปร้อยละ 47.9 เห็นด้วยกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน

นอกจากนี้ กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 46.9 กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนร้อยละ 53.9 กลุ่มนักธุรกิจส่วนตัว หรือค้าขายร้อยละ 44.5 กลุ่มนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 61.1 กลุ่มเกษตรกร รับจ้างแรงงานทั่วไปร้อยละ 55.0 และกลุ่มแม่บ้าน เกษียณอายุร้อยละ 54.6 เห็นด้วยกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน

เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาและระดับรายได้ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 52.3 ของกลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 47.8 ของกลุ่มคนที่มีการศึกษาปริญญาตรี และร้อยละ 42.9 ของกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี เห็นด้วย ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนมีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือนส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 55.9 กลุ่มคนรายได้ระหว่าง 5,001 - 10,000 บาท ร้อยละ 50.2 กลุ่มคนรายได้ระหว่าง 10,001 - 15,000 บาทร้อยละ 50.3 กลุ่มคนรายได้ระหว่าง 15,001 - 20,000 บาทร้อยละ 50.8 และกลุ่มคนรายได้มากกว่า 20,000 บาทขึ้นไปส่วนใหญ่หรือร้อยละ 44.9 เห็นด้วยกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน

ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ เมื่อสอบถามว่า ถ้ามีการยึดอำนาจเกิดขึ้นจะมีข้อดีอะไรบ้าง ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 47.2 ระบุบ้านเมืองจะได้สงบสุขโดยเร็ว ความวุ่นวายจะได้น้อยลง การชุมนุมประท้วงจะได้ยุติ รองลงมาคือ ร้อยละ 22.8 ระบุไม่ให้เกิดการปะทะกัน ไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงบานปลาย ร้อยละ 12.7 จะได้มีการเลือกตั้งใหม่ เปลี่ยนรัฐบาล ร้อยละ 9.9 ระบุจะได้จัดการทุกอย่างให้เป็นระเบียบมากขึ้น ร้อยละ 4.5 ระบุประชาชนจะได้มีความปลอดภัยมากขึ้นอย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า ข้อเสียของการยึดอำนาจมีอะไรบ้าง

ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.4 ระบุประเทศชาติจะเสียหาย ต่างประเทศจะต่อต้านไทยและขาดความเชื่อมั่น รองลงมาคือร้อยละ 57.5 ระบุเศรษฐกิจจะตกต่ำวิกฤตลงไปอีก ร้อยละ 50.9 ระบุเป็นการทำลายประชาธิปไตย เป็นเผด็จการ ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา และร้อยละ 41.8 ระบุไม่สามารถยุติความวุ่นวายได้จริง อาจทำให้รุนแรงมากขึ้นอีก เป็นต้น และเมื่อถามว่า ระหว่างข้อดีกับข้อเสียของการยึดอำนาจ อย่างไหนจะมากกว่ากัน ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.2 เห็นว่าข้อเสียของการยึดอำนาจจะมากกว่าข้อดี ในขณะที่ร้อยละ 32.8 คิดว่าข้อดีจะมากกว่า

ผอ.เอแบคโพลล์กล่าวว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าประชาชนของฝ่ายสนับสนุนและไม่สนับสนุน มีสัดส่วนก้ำกึ่งกัน จึงดูเหมือนว่า จะยังไม่มีทางออกสำหรับประชาชนทั้งประเทศต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงทางการมืองหลังจากมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีฐานสนับสนุนพอๆ กัน และแต่ละฝ่ายก็มีความเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของตนเองเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทย

รวมทั้งการปกครองระบอบประชาธิปไตยดีขึ้น นอกจากนี้ผลสำรวจของเรายังชี้ให้เห็นด้วยว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการยึดอำนาจเกิดขึ้นอีกแล้ว และในอดีตที่ผ่านมา บนเส้นทางของการเติบโตของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ก็บอกกับพวกเราให้ทราบกันดีโดยทั่วไปว่า ทางออกในการแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้ สามารถทำให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันได้

อย่างไรก็ตามความสงบสุขเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรีบฟื้นฟูให้กลับคืนมาสู่สังคมไทยโดยเร็ว เพราะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนในชาติ ความไม่ปกติทางการเมืองในเวลานี้ ได้ทำให้เกิดข้อจำกัด เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของคนไทย และย่อมส่งผลกระทบต่อปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าปราศจากแนวทางแก้ไขด้วยสันติวิธี วัฏจักรแห่งความเลวร้ายก็จะยังเกิดขึ้นต่อไป ดังนั้น ทางออกคลี่คลายสถานการณ์ของประเทศที่น่าพิจารณาคือ

ประการแรก เร่งรณรงค์ให้ประชาชนคนไทยทุกคนนำเอกลักษณ์ที่เป็นพฤติกรรมเชิงบวก มาแสดงมากกว่า พฤติกรรมเชิงลบ เช่น นำเอาความมีไมตรีจิต การให้อภัย ความมีเมตตา การช่วยเหลือกัน เกื้อกูลกัน แบ่งปันความสุขให้แก่กันมากระทำในครอบครัว กับเพื่อนบ้าน ภายในชุมชน และระหว่างชุมชน

ประการที่สอง สังคมไทยน่าจะมีการหนุนเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีการรวมตัวกันเคลื่อนไหวที่เข้มแข็งมากขึ้นภายใต้การนำของกลุ่มคนที่เป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เป็นที่ยอมรับของสังคมชุมชนระดับพื้นที่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ โดยเข้ามารับฟังความคิดเห็นความต้องการและเสนอให้ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายไม่สนับสนุนรัฐบาลได้นำไปพิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุผล

ประการที่สาม สถาบันสื่อสารมวลชนน่าจะเข้ามาช่วยบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนในเวลานี้ โดยมุ่งเน้นคลี่คลายอารมณ์ร้อนแรงของประชาชนให้เย็นลง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเชื่อถือต่อสื่อมวลชนในระดับมาก การนำเสนอข้อมูลข่าวสารในมิติเชิงบวกต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของประชาชนภายในประเทศน่าจะช่วยกอบกู้สถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองขณะนี้ได้บ้าง

ประการที่สี่ น้ำที่กำลังขุ่นในแก้ว มันสามารถตกตะกอนและใสขึ้นมาได้โดยตัวของมันเอง ถ้าไม่มีอะไรไปกวนมัน และถ้าเรามองเชิงโครงสร้างของระบบสังคมไทยและกระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะพบว่า โครงสร้างการตรวจสอบและกลั่นกรองคุณภาพนักการเมืองเข้มแข็งขึ้นมากกว่าอดีต และกำลังเริ่มทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการสร้างคุณภาพนักการเมืองใหม่ขึ้นมาให้สาธารณชนคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้น กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ น่าจะอดทนอดกลั้น รอจังหวะเวลาที่กำลังเดินเข้าใกล้ในการคลี่คลายสถานการณ์การเมืองปัจจุบันนี้ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551

มติ 5 พันธมิตร ไม่เจรจา ย้ำนายก ต้องออก



มติ 5 พันธมิตร ไม่เจรจา ย้ำนายก ต้องออก
โดย โพสต์ทูเดย์
วัน อังคาร ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 00:00 น.มติ5พันธมิตรฯ ยื่นเงื่อนไขเปิดการเจรจา สร้างการเมืองใหม่ ต่อเมื่อนายกฯประกาศลาออกเท่านั้น

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นเวทีประกาศมติของ 5 แกนนำพันธมิตรฯ ไม่มีเป้าหมายที่จะเจรจาเพื่อยุติปัญหาไม่ว่าจะเป็นกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หรือบุคคลใด แต่หากจะมีการเจรจา จะต้องกระทำภายใต้เงื่อนไขเดียว คือรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องลาออก แล้วค่อยมาเจรจา พันธมิตรฯ ยินดีเจรจากับทุกกลุ่ม ทั้งนี้ก็เพื่อหาแก่นทางสู่การเมืองใหม่ต่อไป

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า ยังไม่รับการติดต่อจาก ผบ.ทบ.และยังไม่รู้ว่าจะเจรจาอะไร เพราะปัญหาขณะนี้เลยเวลาที่จะเจรจาแล้ว เนื่องจากรัฐบาลพรรคพลังประชาชนไม่มีความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไป การชุมนุมของพันธมิตร จะยังคงมีการถ่ายทอดผ่าน เอเอสทีวี ต่อไป จะไม่ยอมให้ปิดสถานี และจะต่อต้านจนถึงที่สุด พร้อมย้ำเงื่อนไขในการเจราของพันธมิตรคือ นายสมัคร ต้องลาออก และพรรคพลังประชาชนต้องไม่เป็นรัฐบาล.

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551

43รัฐวิสาหกิจเริ่มดีเดย์3ก.ย.นี้ ตัดน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์-เมล์ขึ้นฟรี


43รัฐวิสาหกิจเริ่มดีเดย์3ก.ย.นี้ ตัดน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์-เมล์ขึ้นฟรี
โดย คม ชัด ลึก
วัน จันทร์ ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551 00:00 น.43 รัฐวิสาหกิจประกาศ ดีเดย์ 3 ก.ย.หยุดผลิต-บริการ สาธารณูปโภคทั้งระบบ เริ่มจากตัดน้ำ ตัดไฟ โทรศัพท์ ดีเลย์เที่ยวบิน รถเมล์ขึ้นฟรีร่วมพันธมิตร ขู่ตัดน้ำ-ไฟ สำนักงานตำรวจทั่วประเทศก่อนหลังจากนั้นจะเริ่มตัดน้ำ ไฟ หน่วยราชการทั่วประเทศ รวมไปถึงบ้านรัฐมนตรี จนกว่า สมัคร ลาออก

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 1 ก.ย.ที่ทำการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้มีการประชุมวาระเร่งด่วนเพื่อออกมาตาการตอบโต้กรณี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ยืนยันผ่านรายการ สนทนาประสาสมัคร และการประชุม 2 สภาร่วมว่าจะไม่ลาออกตามข้อเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีแกนนำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 43 องค์กร เข้าร่วมหารือ
นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) ในฐานะแกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 นายสมศักดิ์ มานพ รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย นายบุญมา ป๋งมา รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)
นายสาวิทย์ แถลงภายหลังการประชุมใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุม สรส.มีมติชัดเจนร่วมกันทั้ง 43 องค์กรซึ่งมีสมาชิกกว่า 200,000 คนจะพร้อมใจนัดหยุดงานและหยุดกระบวนการผลิตด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั่วประเทศในวันที่ 3 ก.ย.เป็นต้นไป จนกว่ารัฐบาลทั้งชุดจะลาออกและยุติบทบาททางการเมือง
นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า รูปแบบการหยุดกระบวนการผลิตจะเริ่มตั้งแต่มาตรการตัดน้ำ ตัดไฟ โทรศัพท์ ในหน่วยงานราชการโดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค หน่วยงานราชการกระทรวง ศาลากลาง เป็นต้น โดยจะหลีกเลี่ยงมาตรการดังกล่าวให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดการหยุดสายส่งไฟฟ้า ประปา ทั่วประเทศ เพราะจะทำให้ประเทศตกอยู่ในความมืด นอกจากนี้จะมีมาตรการตัดสัญญาโทรศัพท์บ้านตามหน่วยราชการและรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ รวมทั้งจะมีมาตรการดีเลย์เวลาขึ้นลงของสายการบินทั่วประเทศ ที่สำคัญในส่วนของ ขสมก.จะหยุดเดินรถ 80% นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีพนักงานออมสินที่เป็นสมาชิกสหภาพฯประมาณ 7,500 คน พร้อมปฏิบัติการตามมติของ สรส.ด้วยการหยุดงานด้วย ในส่วนของการหยุดเดินขบวนรถไฟ ก็ยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การที่บอร์ดการรถไฟออกมาประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบก็ไม่ได้กระทบต่อการเคลื่อนไหวของสหภาพการรถไฟ เนื่องจากบอร์ดดังกล่าวถูกแต่งตั้งจากนักการเมือง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน
“วันนี้เราทำตามเจตนารมณ์ที่มี เพราะรัฐบาลได้ใช้ความรุนแรงในการจัดการผู้ชุมนุมที่เข้ามาร่วมกันอย่างสงบ ทุบตีประชาชนเลือดตก ยางออก พยายามปลุกปั่นให้มีกลุ่มเพื่อต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯให้เห็นว่าขาดความชอบอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นต้องลาออกสถานเดียว เรียกว่าวันนี้คือวันเผด็จศึก เราให้โอกาสมาแล้วหลายครั้ง แต่รัฐบาลยังดื้อด้าน หน้าหนา ก็ไม่ออก ถ้าไม่ออกเราก็จะมีการดำเนินการอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะลาออก ยอมรับการกระทำดังกล่าวนี้เป็นกระทบต่อประชาชนบ้าง แต่ก็พยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด ขอให้พี่น้องเข้าใจด้วย เราทำเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง อย่างไรก็ตามภายหลังวันที่ 3 ก.ย. สรส.จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนี่งและพร้อมที่ดำเนินการขั้นเต็มรูปแบบกว่านี้ด้วย แต่คิดว่าไม่น่าเกินวันที่ 5 ก.ย.คุณสมัคร จะตัดสินใจลาออก” นายสาวิทย์ กล่าว
นายบุญมา กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันที่ 3 ก.ย.เป็นต้นไป รถเมล์จะทำการหยุดการเดินรถในพื้นที่กทม.โดยเหลือรถเมล์ครีมแดงซึ่งเป็นรถเมล์ฟรีไว้บริการประชาชนเพียง 800 คัน หรือ ประมาณ 20 %จากทั้งหมด 3,800 คัน แต่หากรัฐบาลยังดื้อด้านจะดำเนินการหยุดเดินรถ 100% ยกเว้นรถร่วมบริการเนื่องจาก ขสมก.ไม่สามารถคบคุมได้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับมตราการของสายการบินไทยนั้นมีหลายมาตรการแต่ซึ่งเบื้องต้นจะทำในลักษณะดีเลย์เครื่องขึ้นลงหรือลดเที่ยวบินลงจากทั้งหมด 90 ลำ ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อระบบการขนส่ง ธุรกิจ และการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากเครื่องบินขึ้นลงนั้นเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วโลก แต่วันนี้มันจำเป็นจริงและถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำ หากรัฐบาลยังไม่ลาออกจะส่งผลให้ความเสียหายมากไปกว่านี้แน่นอน
นายธรรมรัตน์ รำขวัญ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสากิจประปาส่วนภูมิภาค กล่าวว่า จะเลือกตัดน้ำในส่วนของสำนักงานตำรวจทุกแห่ง ทั่วประเทศนำร่องไปก่อน ส่วนหน่วยงานราชการอื่นนั้นค่อยทยอยดำเนินการภายหลังการประชุมในสหภาพฯ เพราะวันนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลได้ทำเลยเถิดก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง และหาก สรส.มีมติอย่างไร เราก็จะดำเนินการไปตามนั้นทุกประการ
หลังจากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. แกนนำ สรส.ทั้ง 43 แห่งได้ขึ้นเวทีพันธมิตรฯที่ทำเนียบรัฐบาลประกาศเจตนารมย์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแทนจาก ขสมก.ระบุ รถเมล์คงจะหยุดวิ่งไม่ได้แต่วันที่ 3 กันยายน รถเมล์ทั้งขาว แดงจะให้บริการฟรีเพื่อให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมกดดันให้นายสมัครลาออกหรือยุบสภา